วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

การเมืองการปกครองสาธารณรัฐชิลี

การเมืองการปกครอง


เซบัสเตียน ปีเญรา 

(Sebastián Piñera)



- ชิลีปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 ภูมิภาค ปกครองโดยผู้ว่าการภูมิภาค (Intendente) ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี แต่ละภูมิภาคประกอบด้วยจังหวัดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 50 จังหวัดทั่วประเทศ ปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเช่นกัน นอกจากนั้น แต่ละจังหวัดยังแบ่งออกเป็นอำเภอ (municipality) รวม 341 อำเภอ ปกครองโดยนายกเทศมนตรี (Alcalde) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี


- ชิลีมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2552 แต่โดยที่การเลือกตั้งประธานาธิบดี ไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งรอบ 2 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2553 ซึ่งนาย Sebastián Piñera Echenique ผู้นำพรรค Renovación Nacional (RN) เป็นนักธุรกิจชั้นนำเจ้าของกิจการโทรทัศน์ TVN สโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียงของชิลี (Colo Colo) และหุ้นส่วนใหญ่ของสายการบิน LAN Chile ซึ่งเป็นสายการบินที่ประสบความสำเร็จมากในลาตินอเมริกา ทำให้นาย Piñera เป็นผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายขวาคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีชิลีในรอบ 20 ปี ซึ่งตลอดการหาเสียงเลือกตั้งได้ชูนโยบายและภาพลักษณ์การเปลี่ยนแปลง (Change) จากการปกครองของพรรคผสม Concertación ของฝ่ายซ้ายกลางที่ได้ปกครองชิลีติดต่อกันภายหลังรัฐบาลทหารของนายพล Pinochet หมดอำนาจลง

นโยบายของรัฐบาลชิลี 
นโยบายการเมือง
- แนวนโยบายขวากลาง center-right ให้ความสำคัญกับการค้าเสรี สนับสนุนการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ มุ่งแก้ปัญหาความยากจนและการว่างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างความเท่าเทียมกัน กระจายโอกาสทางการศึกษา และการลดปัญหาอาชญากรรม

นโยบายเศรษฐกิจและสังคม

- ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดเสรี (liberal economy policy) โดยการจัดทำความตกลงการค้าเสรีเป็นหัวใจในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของชิลี (ปัจจุบันชิลีมีอัตราภาษีศุลกากรต่ำที่สุดในลาตินอเมริกา ประมาณร้อยละ 6

- ชิลีเป็นประเทศที่มีการจัดทำ FTA มากที่สุดประเทศหนึ่งในลาตินอเมริกา โดยได้ลงนาม FTA แล้ว 24 ฉบับ กับ 58 ประเทศและกลุ่มประเทศ อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก อเมริกากลาง สหภาพยุโรป EFTA เกาหลีใต้ (เป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่ชิลีทำ FTA ด้วย) จีน (ชิลีเป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกาที่จีนทำ FTA ด้วย) และญี่ปุ่น และได้จัดทำความตกลง P4 กับสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และบรูไน และ Preferential Trade Agreement เพื่อปูทางไปสู่การจัดทำ FTA กับอินเดีย นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างเจรจาจัดทำ FTA กับออสเตรเลีย ตุรกี และอินโดนีเซีย และกำลังจะบรรลุการเจรจากับมาเลเซีย รวมถึงได้เริ่มเจรจา FTA กับประเทศไทยแล้ว

นโยบายต่างประเทศ

- ชิลีมีการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่คล้ายคลึงและใกล้ชิดกับประเทศตะวันตก และแตกต่าง จากกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกาหลายประเทศที่มีรัฐบาลซึ่งมาจากพรรคฝ่ายซ้าย โดยมีบทบาทแข็งขันในประเด็นด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งยังมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศโดยเฉพาะใน UN
- ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก ชิลีเข้าร่วมในกิจกรรมของเอเปคตั้งแต่ปี 2536 (ค.ศ. 1993) และเป็นสมาชิกสมบูรณ์ในปี 2537 (ค.ศ. 1994) โดยชิลีเป็นหนึ่งใน 3 ประเทศในลาตินอเมริกานอกเหนือจากเปรูและเม็กซิโก ที่เป็นสมาชิกเอเปค
- นับตั้งแต่ชิลีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2004 รัฐบาลชิลีได้หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังกับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนและญี่ปุ่น โดยเริ่มสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในการนี้ รัฐบาลชิลีดำเนินนโยบายเสริมสร้างบทบาทของชิลีในภูมิภาคเอเชียให้ชัดเจนโดดเด่นยิ่งขึ้น และประสงค์จะส่งเสริมให้ชิลีเป็น platform ทางด้านการค้าการลงทุนของภูมิภาคลาตินอเมริกา และเป็นประตูเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียกับลาตินอเมริกา อนึ่ง ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงการคลังชิลีกำลังจัดทำ Plan Asia เพื่อกระตุ้นการค้าและการลงทุนระหว่างชิลีกับประเทศในเอเชีย

บทบาทในเวทีระหว่างประเทศ

- ชิลีเป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี 2546-2547 และได้คัดค้านการใช้กำลังทางทหารและการบุกรุกอิรักของสหรัฐฯ มาโดยตลอด ซึ่งทำให้ชิลีได้รับแรงกดดันและการตอบโต้จากสหรัฐฯ และทำให้การลงนามความตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ - ชิลีต้องล่าช้ากว่ากำหนด นอกจากนี้ ชิลีเห็นว่า ควรจะมีข้อมติใหม่เพื่อให้สหประชาชาติเป็นองค์กรหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในอิรัก ทั้งนี้ ชิลียังไม่ได้ร่วมให้ความช่วยเหลือใดๆ ในการฟื้นฟูอิรักหลังสงคราม

- ชิลีให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในลาตินอเมริกาทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคี และการรวมกลุ่ม การกำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งการผลักดันให้องค์กรระดับภูมิภาคของลาตินอเมริกามีความแข็งแรง อาทิ องค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States, OAS) โดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 นายโฆเซ่ มิเกล อินซูลซา (Mr.José Miguel Insulza) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของชิลี ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ OAS และยังคงดำรงตำแหน่งอยู่จนปัจจุบัน

- ชิลีส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ร่วมกับ
สิงคโปร์เป็นแกนนำในการจัดตั้งเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia – Latin America Cooperation: FEALAC) เมื่อปี 2542 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นเวทีหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้านระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา

- นอกจากนี้ ชิลียังชิลีได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council – ECOSOC) วาระปี 2553 - 2555 ได้รับเลือกตั้งซ้ำให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (UNHRC) วาระปี 2554 - 2557 และได้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) วาระปี 2557 - 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น