วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ข้อควรทราบเมื่อเดินทางถึงประเทศชิลี


ข้อควรทราบเมื่อเดินทางถึงประเทศชิลี
เมื่อเดินทางถึงและผ่านการตรวจคนเข้าเมือง ให้เก็บรักษาเอกสารการตรวจคนเข้าเมืองที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี เพราะจำเป็นต้องมอบคืนให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเดินทางออกนอก ประเทศชิลี
ทางการชิลี ไม่อนุญาตให้นำผลิตภัณฑ์จากสัตว์และผักผลไม้ ที่ไม่ได้รับการรับรองการบรรจุหีบห่อจากประเทศผู้ผลิตเข้าประเทศ ดังนั้น หากท่านประสงค์จะนำผลิตภัณฑ์จากสัตว์หรือผักผลไม้ใดๆ เดินทางเข้าประเทศชิลี ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทราบ โดยกรอกแบบฟอร์ม Declaración Conjunta Aduana-SAG ที่ได้รับ มิฉะนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่าย อาทิ เมล็ดพืช/ผักผลไม้อบแห้ง (กาแฟ โกโก้ ถั่ว) ผักผลไม้แช่แข็ง น้ำผลไม้ น้ำมันพืช แป้ง น้ำตาล แอลกอฮอล์ ผักผลไม้แปรรูป (ในน้ำเชื่อม ดอง ปรุงสุก) ธัญญาหาร เครื่องปรุงป่น ชา เป็นต้น ทั้งนี้ การนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อการใช้ประโยชน์ส่วนบุคคลอาจดำเนินการได้ โดยต้องระบุในเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ต้องกรอกเพื่อผ่านกระบวนการตรวจคนเข้า เมือง และผ่านการตรวจสอบและอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในช่องสำแดง(Declare) หลังจากเจ้าหน้าที่ฯ ได้ตรวจกระเป๋าเดินทางแล้ว
หากท่านจะอยู่อาศัยในประเทศชิลีเป็นระยะเวลานาน โปรดแจ้งชื่อ และที่อยู่ต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อ หรือให้ความช่วยเหลือในกรณีจำเป็น
หากต้องการใช้โทรศัพท์มือของเมืองไทยที่ชิลีจะต้องเป็นโทรศัพท์ระบบ tri-band ที่เปิดใช้ระบบ international roaming และจนถึงขณะนี้ยังใช้ได้เฉพาะโทรศัพท์ในระบบ AIS ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับบริษัท Entel PCS ของชิลี
อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 รวมอยู่ในราคาสินค้า และไม่สามารถเรียกคืน (refund) ได้ ทั้งนี้ กรณีชาวต่างชาติชำระค่าที่พักในชิลีเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
สถานที่สำคัญในกรุงซันติอาโกและเมืองใกล้เคียง
1. เนินเขาซานคริสโตบัล (Cerro San Cristobal)
เป็นยอดเนินเขาสูง 880 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เดิมมีชื่อภาษาท้องถิ่นว่า Tupahue ต่อมาในเจ้าอาณานิคมชาวสเปนได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น Cerro San Cristobal (Saint Christopher Hill) ตามชื่อของนักบุญ Saint Christopher
บริเวณยอดเขามีประติมากรรมปูนปั้นพระแม่มารีขนาดความสูง 22.5 เมตรซึ่งได้รับการบริจาคจากฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1908 เนินเขานี้เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สูงที่สุดของกรุงซันติอาโก และมีสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น สวนพฤกษศาสตร์ สวนสาธารณะ สวนสัตว์ เป็นต้น ผู้สนใจสามารถเดินทางขึ้นเขาได้ทั้งโดยรถยนต์ รถราง และรถกระเช้า

2. หมู่บ้านหัตถกรรม โลส โดมินิโกส (Pueblito de los Dominicos)
เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมจำลอง ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของโบสถ์ โลส โดมินิโกส มีร้านขายของหัตถกรรมพื้นบ้านและของที่ระลึกของชิลีหลายประเภทที่มีคุณภาพ บางร้านมีการสาธิตการทำหัตถกรรมให้ชม นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารและของว่าง 2 - 3 ร้านให้ได้เลือกรับประทานตามอัธยาศัย

หมู่บ้านหัตถกรรม โลส โดมินิโกส

3. พิพิธภัณฑ์ ลา ชาสโกนา (บ้านของกวีปาโบล เนรูด้า) (Museo Casa La Chascona) 1952
สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2496 (ค.ศ.1953) บริเวณเชิงเขา Cerro San Cristobal เป็นบ้านพักแห่งหนึ่งในจำนวนบ้านพักสามแห่งของนายปาโบล เนรูด้า (Pablo Neruda) ซึ่งเป็นกวีที่ได้รับรางวัลโนเบลของชิลี บ้านแห่งนี้สร้างให้แก่ภรรยาคนที่ 3 (นาง Matilde Urrutia)
นายเนรูด้าได้รับการขนานนามว่าเป็นนักสะสมตัวยง ภายในบ้านจึงรวบรวมของสะสมของเนรูด้า อาทิ หนังสือ ภาพวาด ของประดับตกแต่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก นายเนรูด้าเป็นผู้ออกแบบรูปแบบตัวบ้านและการตกแต่งบ้านด้วยตนเอง ปัจจุบัน ลา ชาสโกนาเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมเพื่อให้รู้จักชีวิตความเป็นอยู่และการตกแต่งบ้านพักของนายเนรูด้า
หลังจากที่นายเนรูด้าเสียชีวิตได้มีการจัดตั้งมูลนิธิเนรูด้าขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่งานศิลปะและงานประพันธ์โดยทั่วไป และรวมไปถึงการดูแลงานประพันธ์ทรัพย์สินและบ้านทั้งสามแห่งของนายเนรูดาด้วย ณ บ้าน La Chascona นี้ มูลนิธิได้สร้างอาคารหอสมุดต่อเติมจากตัวบ้านดั้งเดิม เพื่อจัดเก็บรักษางานประพันธ์ของนายเนรูด้าและคลังหนังสือสะสมของเขา ซึ่งหนังสือเล่มที่เก่าแก่ที่สุดที่เขาสะสมได้รับการจัดทำขึ้นในศตวรรษที่ 15 บริเวณหอสมุดนี้ไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชม

4. สถานีมาโปโช่ (Estación Mapocho)
เป็นสถานีรถไฟเดิมที่สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ปัจจุบันเป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของชิลี เป็นที่แสดงภาพวาดและศิลปะต่างๆ ตลอดจนเป็นศูนย์แสดงสินค้า ตัวอาคารเป็น 3 ชั้น ภายในประกอบด้วยภัตตาคาร ห้องแสดง ภาพถ่าย และมีมุมสำหรับนั่งอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ที่ได้รับมาจากหอสมุดแห่งชาติ

5 ทำเนียบประธานาธิบดี (Palacio de la Moneda)
อาคารทรงนีโอคลาสสิค สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2342 (ค.ศ. 1799) โดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ Joaquín Toesca เดิมใช้เป็นโรงกษาปณ์ แต่ปัจจุบันเป็นเพียงที่ทำงานของประธานาธิบดีเท่านั้น และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมบางบริเวณได้

6. ศาลฎีกา (Palacio de los Tribunales de Justicia)
อาคารที่ทำการศาลฎีกาเริ่มสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2401 (ค.ศ.1858) และทำการต่อเติมในปี พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) และปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) เป็นศิลปะแบบกรีก-โรมัน สูง 3 ชั้น
ประธานศาลฎีกาของชิลีมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี มีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 3 ปี ผู้พิพากษาของศาลฎีกา มีจำนวน 21 คน โดยได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและต้องผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภา ต้องมีอายุตั้งแต่ 36 ปีขึ้นไป และเกษียณเมื่ออายุครบ 75 ปี 

7. จตุรัสอาร์มัส (Plaza de Armas)
เปโดร เด วาลดิเวีย ได้สร้างจตุรัสนี้ขึ้นกลางกรุงซันติอาโก เมื่อปีพ.ศ. 2084 (ค.ศ.1541) เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดตลาดนัดและเป็นลานฝึกอาวุธ ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม บริเวณโดยรอบเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญของกรุงซันติอาโก อาทิ ไปรษณีย์กลาง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ และมหาวิหาร (Metropolitan Church)

จตุรัสอาร์มัส

8. เนินเขาซานตาลูเซีย (Cerro Santa Lucia)
เป็นจุดที่เปโดร เด วาลดีเวีย ขึ้นไป และมองลงมา ณ ที่ราบเนินเขาด้านล่าง แล้วเกิดความประทับใจสร้างเมืองซันติอาโกขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2083 (ค.ศ.1540) ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะย่านกลางเมืองที่เป็นที่นิยมไปพักผ่อนของชาวเมืองซันติอาโก บนเนินเขามีปราสาทฮิดาลโก (Castillo Hidalgo) ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2359 (ค.ศ. 1816) เพื่อเป็นป้อมปราการในการป้องกันกรุงซันติอาโก หลังจากนั้นได้มีการใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ และศูนย์จัดนิทรรศการ ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดกิจกรรมงานเลี้ยงต่างๆ ฝั่งตรงข้ามซานตาลูเซียมีตลาดนัดขายของที่ระลึกและสินค้าพื้นเมือง

เนินเขาซานตาลูเซีย (Cerro Santa Lucia)

9. ตลาดกลาง (Mercado Central)

ตลาดขายสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเลสด และในบริเวณตลาดมีร้านขายอาหารชิลี และนานาชาติ บางครั้งจะมีกลุ่มนักดนตรีมาเล่นและร้องเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศให้เป็นท้องถิ่นมากขึ้น

ตลาดกลาง (Mercado Central)


ธรรมเนียมปฏิบัติที่ควรทราบ
ชาวอเมริกาใต้รวมทั้งชาวชิลีจะพูดกับคู่สนทนาโดยยืนประชิดตัวใกล้กว่า ปกติ พยายามอย่าก้าวถอยหลังเพื่อรักษาระยะแม้ว่าท่านจะรู้สึกไม่สบาย หรือขัดเขินเพราะอาจทำให้คู่สนทนาคิดว่าท่านรังเกียจ
การพิมพ์นามบัตร ควรพิมพ์ภาษาอังกฤษด้านหนึ่งและภาษาสเปนอีกด้านหนึ่งและควรมอบนามบัตรให้ทุกคนที่พบ ยกเว้นเลขานุการ
บรรยากาศ การติดต่อธุรกิจจะมีความเป็นทางการมากกว่าในอเมริกาและยุโรป จึงควรรักษามารยาทและแต่งตัวให้เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม สำหรับสุภาพสตรีนิยมใช้ชุดสูทกางเกงในการพบติดต่อธุรกิจ แต่ในงานเลี้ยงมักใช้ชุดกระโปรงสั้น (หากเป็นผ้าไหมไทยจะช่วยสร้างความประทับใจมากยิ่งขึ้น)
ชาวชิลีมีอัธยาศัยและให้ความเป็นกันเองกับแขก แต่ไม่ชอบกิริยาที่โผงผาง ก้าวร้าว
ชาวชิลีไม่นิยมต่อรองราคาไม่ว่าในห้างสรรพสินค้าหรือตลาด นอกจากนี้ การขายสินค้าโดยไม่ออกใบเสร็จรับเงินถือว่าผิดกฎหมาย
ในร้านอาหารส่วนใหญ่จะไม่รวมค่าบริการในใบเสร็จรับเงิน ซึ่งโดยทั่วไปจะให้ประมาณร้อยละ 10 ของค่าอาหาร
มารยาททางธุรกิจ
การนัดหมาย
เวลาทำงาน คือ จันทร์-ศุกร์
เอกชน ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น.
ราชการ ตั้งแต่เวลา 9.00-17.30 น.
ธนาคาร ตั้งแต่เวลา 9.00-14.00 น.
พักกลางวัน ตั้งแต่เวลา 13.00-15.00 น.
ช่วงเวลาการนัดหมายทางธุรกิจที่เหมาะสม ได้แก่ เวลา 10.00-12.00 น. และ 15.00-17.00 น. ทั้งนี้การพบปะเพื่อติดตามความคืบหน้าทางธุรกิจในช่วงสายของวันถัดมา และตามด้วยการรับประทานอาหารกลางวัน (business lunch) ถือเป็นธรรมเนียมนิยม
ควรตรงต่อเวลา อย่างไรก็ดี ไม่ควรแปลกใจหรืออารมณ์เสียหากคู่นัดผิดเวลาไป 30 นาที ตามงานสังคม เป็นที่คาดว่าทุกคนจะมาถึงช้าประมาณ 15 นาที สำหรับงานเลี้ยงอาหารค่ำ และ 30 นาที สำหรับงานเลี้ยงรับรอง
มารยาทการเข้าสังคม
การทักทาย
สุภาพบุรุษใช้วิธีสัมผัสมือแบบสากลนิยม ในขณะที่สุภาพบุรุษทักทายสุภาพสตรี และสุภาพสตรีทักทายระหว่างกันเองโดยการใช้แก้มด้านขวาสัมผัสกัน ซึ่งแสดงถึงอัธยาศัยไมตรีอันดีต่อกัน อย่างไรก็ตาม ชาวชิลีส่วนใหญ่จะเข้าใจและให้การปฏิบัติต่อแขกต่างชาติโดยการสัมผัสมือ อย่างสากล
การเรียกชื่อ
คนชิลีจะเขียนคำนำหน้าชื่อ คือ
นาย เรียกว่า Senor (ซินญอ)
นาง เรียกว่า Senora (ซินญอรา)
นางสาว เรียกว่า Senorita (ซินญอริต้า)
แล้วตามด้วยชื่อตัว นามสกุลบิดา และนามสกุลมารดา ส่วนในการเรียกชื่อจะใช้คำนำหน้าชื่อนามสกุลของบิดา
คนชิลีมักให้เกียรติคู่สนทนา (โดยเฉพาะกับบุคคลที่ไม่สนิทสนม หรือผู้มีความอาวุโสกว่า) ด้วยการใช้ระดับภาษาที่เป็นทางการในการสนทนา
การสังสรรค์
ที่งานเลี้ยงสังสรรค์ ควรทักทายเป็นรายบุคคล
การสังสรรค์นิยมกระทำตามโรงแรมและภัตตาคาร ควรประสานเรื่องการชำระเงินล่วงหน้ากับทางร้านค้าก่อน เพื่อป้องกันการแย่งกันจ่ายเงิน
หัวข้อการสนทนาที่ดีระหว่างการรับประทานอาหาร ได้แก่ เรื่องครอบครัว (ไม่ถือเป็นการก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว แต่เป็นการแสดงความสนใจในตัวคู่สนทนา) ประวัติศาสตร์ อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ควรหลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองภายใน และศาสนา
การหยิบยก ประเด็นเกี่ยวกับชิลี อาทิ ไวน์ ทัศนียภาพจะทำให้คนชิลีรู้สึกดีต่อประเทศตนเองและกับคู่สนทนาว่ามีความสนใจ เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศของเขา
วันหยุดราชการ
1 มกราคม วันขึ้นปีใหม่
21 มีนาคม วัน Good Friday
1 พฤษภาคม วันแรงงาน
21 พฤษภาคม วัน Commemoration of the Battle of Iquique
22 พฤษภาคม วัน Corpus Christi
29 มิถุนายน วัน St.Peter and St.Paul
16 กรกฎาคม วัน Virgin of the Carmen
15 สิงหาคม วัน Assumption of the Virgin Mary
18 กันยายน วัน Independence Day
19 กันยายน วัน Day of the Army
12 ตุลาคม วัน Columbas Day
31 ตุลาคม ววัน National Day of Evangelical and Protestant Churches
1 พฤศจิกายน วัน All Saints
8 ธันวาคม วัน Immaculate Concepttion
25 ธันวาคม วัน Christmas
หมายเหตุ : โดยที่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาที่สำคัญของชิลี จึงอาจมีวันสำคัญทางศาสนาบางวันที่ถือเป็นวันหยุด จึงควรตรวจสอบก่อน
หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน
รถพยาบาล หมายเลข 131
รถดับเพลิง หมายเลข 132
ตำรวจ หมายเลข 133
หากท่านจะอยู่อาศัยในประเทศชีลีเป็นระยะเวลานาน โปรดแจ้งชื่อ และที่อยู่ต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อหรือให้ความช่วยเหลือในกรณีจำเป็น
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก
(Royal Thai Embassy, Santiago)
Vespucio 100, Americo Vespucio Sur 100,
Piso 15 Las Condes, Santiago
โทรศัพท์ : (56-2) 717-3959
โทรสาร : (56-2) 717-3758
อีเมล์ : rte.santiago@vtr.net
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐชิลี



ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

ไทยและชิลีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2505 และจะครบรอบ 50 ปี ในปี 2555 โดยชิลีเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2524 และไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก เมื่อเดือนเมษายน 2537 โดยเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงซันติอาโกปัจจุบัน คือ นายสุรพล เพชรวรา ส่วนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย คนล่าสุด คือ นายฮาเวียร์ เบกเกอร์ มาร์แชล (Mr. Javier Becker Marshall) เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554

ไทยและชิลีมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาโดยตลอด และพัฒนาความสัมพันธ์มากขึ้นตามลำดับ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า สังคม และความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามหาแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อขยายความสัมพันธ์กับชิลีทั้งในระดับรัฐบาล เอกชน และประชาชนทั่วไป นอกจากนั้นในกรอบพหุภาคี ไทยและชิลียังมีความร่วมมือกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหประชาชาติ เอเปค และเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia – Latin America Cooperation, FEALAC)

มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงหลายครั้ง ระดับพระราชวงศ์ของไทย หัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรี มีกรอบการหารือทวิภาคีที่สำคัญ ได้แก่ Political Consultations ในระดับ ปลัด กต. หารือแล้ว 3 ครั้ง โดยไทยเป็นเจ้าภาพที่กรุงเทพฯ ในปี 2542 และ 2552 และชิลีเป็นเจ้าภาพที่กรุงซันติอาโกเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Commission) ประชุมแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่ชิลีโดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย เมื่อปี 2551

นายวัชระ พรรณเชษฐ์ ผู้แทนการค้าไทย พร้อมด้วยผช.รมว.กต. ได้นำคณะ
นักธุรกิจไทยเยือนชิลีในโครงการ Roadshow ระหว่างวันที่ 3 – 5 ตุลาคม 2552 โดยฝ่ายชิลีได้ยืนยันความพร้อมและสนใจที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย – ชิลีในโอกาสแรก อนึ่ง นักธุรกิจไทยที่ร่วมไปในคณะได้สัญญาทำซื้อขายกับภาคเอกชนชิลีในสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง และชิ้นส่วนอะไหล่ เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะยางและเหล็กหล่อรถแทรกเตอร์ นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสภาธุรกิจไทย – ลาตินอเมริกาอีกด้วย

การค้าและความร่วมมือระหว่างไทยชิลี


- ชิลีเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญเป็นอันดับ ๔ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยในปี ๒๕๕๓ การค้ารวมระหว่างไทยและชิลีมีมูลค่าทั้งสิ้น ๘๑๘.๙๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๒ (๒๙๙.๔๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ร้อยละ ๑๗๓.๔๕ สืบเนื่องจากการฟื้นตัวของวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยไทยส่งออกไปชิลีเป็นมูลค่า ๕๑๔.๑๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๖๗.๔๗ และนำเข้าจากชิลีเป็นมูลค่า ๓๐๔.๗๖ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๙๑ ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า ๒๐๙.๔๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถกระบะ (ชิลีนำเข้าจากไทยมากที่สุด) ปูนซีเมนต์ อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋อง เม็ดพลาสติก ลิฟต์ รถสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

สินค้านำเข้าที่สำคัญจากชิลี ได้แก่ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เคมีภัณฑ์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

ไทยกับชิลีได้เริ่มกรอบความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างกันในสาขาการเกษตร การเคหะ และพลังงานทดแทน ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ/ทุนฝึกอบรม/ดูงาน นอกจากนี้ ไทยยังยินดีที่จะร่วมมือกับชิลี ในลักษณะหุ้นส่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกาที่มีระดับการพัฒนาน้อยกว่า

ขณะนี้ ไทยสนใจที่จะริเริ่มความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชิลีในด้านต่างๆ เพิ่มเติมโดยเฉพาะในด้านดาราศาสตร์ ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เริ่มจะดำเนินโครงการร่วมกับชิลีในการจัดตั้งกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เมตร เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการระเบิดของรังสีแกมมา โดยจะเริ่มสร้างในประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และความร่วมมือในการสนับสนุนงานวิจัยและการเรียนการสอนดาราศาสตร์ทางไกลระหว่างประเทศ โดยมีระบบควบคุมจากประเทศไทย

ข้อมูลสรุปการค้าระหว่างประเทศของไทย กับ ชิลี(มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ไทย-ชิลี 2549 2550 2551 2552 2553
มูลค่าการค้า 494.08 611.88 539.52 299.49 818.94
การส่งออก 262.94 343.30 328.02 139.92 514.17
การนำเข้า 231.15 268.58 211.50 159.57 304.76
ดุลการค้า 31.79 74.72 116.51 -19.64 209.41

ที่มา ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

การเจรจาความตกลงการค้าเสรี

คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลีเมื่อเดือนพฤษภาคม และกันยายน ๒๕๕๓ ตามลำดับ และเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๒๒ ที่เมือง โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ไทยและชิลีได้ประกาศเริ่มต้นการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกันแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายกำลังดำเนินการเจรจาระหว่างกัน โดยคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2555

เศรษฐกิจการค้าสาธารณรัฐชิลี

เศรษฐกิจการค้าสาธารณรัฐชิลี
ชิลีเป็นผู้ส่งออกไวน์เป็น อันดับ 5 ของโลก
และ เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 8

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
257.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (%GDP)5.3
โครงสร้าง GDP
ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 50.5
ภาคบริการ ร้อยละ 44.7
ภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 4.8
อัตราเงินเฟ้อ เฉลี่ยร้อยละ 1.7 (2010)
ดุลการค้าต่างประเทศ 14.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้สินต่างประเทศ 84.51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2010)
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 8.7 (2010)
ทรัพยากรธรรมชาติ ทองแดง ไม้ เหล็ก อัญมณี
อุตสาหกรรม ทองแดง แร่ธาตุอื่นๆ อาหารแปรรูปประเภทปลา ผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องมือสื่อสาร ปูน สิ่งทอ
ผลิตผลทางการเกษตร ข้าวสาลี ข้าวโพด องุ่น ถั่ว มันสำปะหลัง ผลไม้ สัตว์ปีก ขนสัตว์ ปลา ไม้
สินค้าเข้า มูลค่าประมาณ 54.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโทรคมนาคม เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานพาหนะ ก๊าซธรรมชาติ (2010)
สินค้าออก มูลค่าประมาณ 64.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ ทองแดง ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากปลา กระดาษ เคมีภัณฑ์ ไวน์ และผลิตภัณฑ์ไม้(2010)


ประเทศคู่ค้าสำคัญ
สินค้าเข้ามาจาก - สหรัฐอเมริกา จีน บราซิล อาร์เจนตินา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น
สินค้าออกไปสู่ - จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บราซิล เกาหลีใต้ เนเธอแลนด์


- ชิลีเป็นประเทศที่มีพลวัตรและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงที่สุดในลาตินอเมริกา สังเกตได้จากผลการจัดอันดับของสถาบันต่างๆ อาทิ
------ การจัดอันดับประเทศที่มีเสถียรภาพและมีความน่าเชื่อถือสำหรับการลงทุน ของ Standard & Poors ประจำปี 2554 ชิลีจัดเป็นประเทศประเภท A+
------ สถาบัน Economic Intelligence Unit (EIU) จัดให้ชิลีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสำหรับลงทุนต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในปี 2554
------ หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ได้จัดอันดับให้ชิลีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเสรีมากที่สึดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2554
------- จากการจัดอันดับของ Transparency International ชิลีอยู่ในดันดับที่ 21 ของประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในโลกในปี 2553


ท่าเรือสำคัญของชิลี ท่าเรือValparaíso.

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

การเมืองการปกครองสาธารณรัฐชิลี

การเมืองการปกครอง


เซบัสเตียน ปีเญรา 

(Sebastián Piñera)



- ชิลีปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 ภูมิภาค ปกครองโดยผู้ว่าการภูมิภาค (Intendente) ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี แต่ละภูมิภาคประกอบด้วยจังหวัดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 50 จังหวัดทั่วประเทศ ปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเช่นกัน นอกจากนั้น แต่ละจังหวัดยังแบ่งออกเป็นอำเภอ (municipality) รวม 341 อำเภอ ปกครองโดยนายกเทศมนตรี (Alcalde) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี


- ชิลีมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2552 แต่โดยที่การเลือกตั้งประธานาธิบดี ไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งรอบ 2 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2553 ซึ่งนาย Sebastián Piñera Echenique ผู้นำพรรค Renovación Nacional (RN) เป็นนักธุรกิจชั้นนำเจ้าของกิจการโทรทัศน์ TVN สโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียงของชิลี (Colo Colo) และหุ้นส่วนใหญ่ของสายการบิน LAN Chile ซึ่งเป็นสายการบินที่ประสบความสำเร็จมากในลาตินอเมริกา ทำให้นาย Piñera เป็นผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายขวาคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีชิลีในรอบ 20 ปี ซึ่งตลอดการหาเสียงเลือกตั้งได้ชูนโยบายและภาพลักษณ์การเปลี่ยนแปลง (Change) จากการปกครองของพรรคผสม Concertación ของฝ่ายซ้ายกลางที่ได้ปกครองชิลีติดต่อกันภายหลังรัฐบาลทหารของนายพล Pinochet หมดอำนาจลง

นโยบายของรัฐบาลชิลี 
นโยบายการเมือง
- แนวนโยบายขวากลาง center-right ให้ความสำคัญกับการค้าเสรี สนับสนุนการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ มุ่งแก้ปัญหาความยากจนและการว่างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างความเท่าเทียมกัน กระจายโอกาสทางการศึกษา และการลดปัญหาอาชญากรรม

นโยบายเศรษฐกิจและสังคม

- ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดเสรี (liberal economy policy) โดยการจัดทำความตกลงการค้าเสรีเป็นหัวใจในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของชิลี (ปัจจุบันชิลีมีอัตราภาษีศุลกากรต่ำที่สุดในลาตินอเมริกา ประมาณร้อยละ 6

- ชิลีเป็นประเทศที่มีการจัดทำ FTA มากที่สุดประเทศหนึ่งในลาตินอเมริกา โดยได้ลงนาม FTA แล้ว 24 ฉบับ กับ 58 ประเทศและกลุ่มประเทศ อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก อเมริกากลาง สหภาพยุโรป EFTA เกาหลีใต้ (เป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่ชิลีทำ FTA ด้วย) จีน (ชิลีเป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกาที่จีนทำ FTA ด้วย) และญี่ปุ่น และได้จัดทำความตกลง P4 กับสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และบรูไน และ Preferential Trade Agreement เพื่อปูทางไปสู่การจัดทำ FTA กับอินเดีย นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างเจรจาจัดทำ FTA กับออสเตรเลีย ตุรกี และอินโดนีเซีย และกำลังจะบรรลุการเจรจากับมาเลเซีย รวมถึงได้เริ่มเจรจา FTA กับประเทศไทยแล้ว

นโยบายต่างประเทศ

- ชิลีมีการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่คล้ายคลึงและใกล้ชิดกับประเทศตะวันตก และแตกต่าง จากกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกาหลายประเทศที่มีรัฐบาลซึ่งมาจากพรรคฝ่ายซ้าย โดยมีบทบาทแข็งขันในประเด็นด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งยังมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศโดยเฉพาะใน UN
- ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก ชิลีเข้าร่วมในกิจกรรมของเอเปคตั้งแต่ปี 2536 (ค.ศ. 1993) และเป็นสมาชิกสมบูรณ์ในปี 2537 (ค.ศ. 1994) โดยชิลีเป็นหนึ่งใน 3 ประเทศในลาตินอเมริกานอกเหนือจากเปรูและเม็กซิโก ที่เป็นสมาชิกเอเปค
- นับตั้งแต่ชิลีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2004 รัฐบาลชิลีได้หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังกับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนและญี่ปุ่น โดยเริ่มสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในการนี้ รัฐบาลชิลีดำเนินนโยบายเสริมสร้างบทบาทของชิลีในภูมิภาคเอเชียให้ชัดเจนโดดเด่นยิ่งขึ้น และประสงค์จะส่งเสริมให้ชิลีเป็น platform ทางด้านการค้าการลงทุนของภูมิภาคลาตินอเมริกา และเป็นประตูเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียกับลาตินอเมริกา อนึ่ง ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงการคลังชิลีกำลังจัดทำ Plan Asia เพื่อกระตุ้นการค้าและการลงทุนระหว่างชิลีกับประเทศในเอเชีย

บทบาทในเวทีระหว่างประเทศ

- ชิลีเป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี 2546-2547 และได้คัดค้านการใช้กำลังทางทหารและการบุกรุกอิรักของสหรัฐฯ มาโดยตลอด ซึ่งทำให้ชิลีได้รับแรงกดดันและการตอบโต้จากสหรัฐฯ และทำให้การลงนามความตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ - ชิลีต้องล่าช้ากว่ากำหนด นอกจากนี้ ชิลีเห็นว่า ควรจะมีข้อมติใหม่เพื่อให้สหประชาชาติเป็นองค์กรหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในอิรัก ทั้งนี้ ชิลียังไม่ได้ร่วมให้ความช่วยเหลือใดๆ ในการฟื้นฟูอิรักหลังสงคราม

- ชิลีให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในลาตินอเมริกาทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคี และการรวมกลุ่ม การกำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งการผลักดันให้องค์กรระดับภูมิภาคของลาตินอเมริกามีความแข็งแรง อาทิ องค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States, OAS) โดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 นายโฆเซ่ มิเกล อินซูลซา (Mr.José Miguel Insulza) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของชิลี ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ OAS และยังคงดำรงตำแหน่งอยู่จนปัจจุบัน

- ชิลีส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ร่วมกับ
สิงคโปร์เป็นแกนนำในการจัดตั้งเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia – Latin America Cooperation: FEALAC) เมื่อปี 2542 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นเวทีหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้านระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา

- นอกจากนี้ ชิลียังชิลีได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council – ECOSOC) วาระปี 2553 - 2555 ได้รับเลือกตั้งซ้ำให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (UNHRC) วาระปี 2554 - 2557 และได้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) วาระปี 2557 - 2558

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสาธารณรัฐชิลี


ข้อมูลทั่วไป

คำขวัญ : Por la Razón o la Fuerza("By right or might")
เพลงชาติ

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ระหว่างแนวเทือกเขาแอนดีสกับมหาสมุทรแปซิฟิก ภูมิประเทศมีลักษณะยาวเลียบฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในแนวตั้ง ทิศตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศตะวันออกติดโบลิเวียและอาร์เจนตินา ทิศเหนือติดเปรูและโบลิเวีย และทิศใต้ติดขั้วโลกใต้

พื้นที่ 2,006,626 ตารางกิโลเมตร (นับรวมเกาะอีสเตอร์และเกาะอื่นๆ ในมหาสมุทร แปซิฟิกกับพื้นที่บริเวณแอนตาร์กติกอีก 1,250,000 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวประมาณ 4,200 กิโลเมตร และอีก 8,000 กิโลเมตร ในส่วนของ แอนตาร์กติก มีความกว้างเฉลี่ยประมาณ 177 กิโลเมตร และมีช่วงกว้างที่สุด 362 กิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงซันติอาโก (Santiago) ตั้งขึ้นโดยกัปตันเรือชาวสเปนชื่อ เปโดร เด วาลดิเวีย (Pedro de Valdivia) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2084 ปัจจุบันกรุงซันติอาโก มีประชากรประมาณ 6 ล้านคน

ประชากร 16.9 ล้านคน (อาศัยอยู่ในเมืองหลวง 6.8 ล้านคน)

ภูมิอากาศ อบอุ่น ภาคเหนืออากาศแห้ง ภาคใต้อากาศชื้น ความชื้น โดยเฉลี่ย ประมาณร้อยละ 50 มี 4 ฤดู
- ฤดูร้อน ปลายธันวาคม – มีนาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 13-29 องศาเซลเซียส
- ฤดูใบไม้ร่วง ปลายมีนาคม – มิถุนายน อุณหภูมิเฉลี่ย 8-23 องศาเซลเซียส
- ฤดูหนาว ปลายมิถุนายน – กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ย 4-16 องศาเซลเซียส
- ฤดูใบไม้ผลิ ปลายกันยายน – ธันวาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 8-22 องศาเซลเซียส

ภาษา ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ

ศาสนา นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 70 นิกายอีวานเจลิกา ร้อยละ 15.1 นับถือศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 4.4 ไม่นับถือศาสนาใดๆ ร้อยละ 5.8 และนับถือศาสนาอื่นๆ ร้อยละ 4.3

หน่วยเงินตรา สกุลเปโซชิลี (Chilean Peso) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 472.8 เปโซ (พ.ค. 2556)

วันชาติ 18 กันยายน - วันประกาศเอกราชจากสเปน เมื่อปี 2353

เชื้อชาติ ร้อยละ 95 เป็นเชื้อชาติยูโรเปียน อาทิ สเปน เยอรมัน อังกฤษ อิตาเลียน นอกจากนั้น ส่วนใหญ่เป็นอาหรับและยูโกสลาเวีย

อัตราการรู้หนังสือ ร้อยละ 95.7 (2010)

เวลาต่างจากไทย ช้ากว่าไทย 11 ชั่วโมงตั้งแต่วันอาทิตย์ที่สองของเดือนมีนาคม-วันเสาร์ที่สองของเดือนตุลาคม ช้ากว่าไทย 10 ชั่วโมงตั้งแต่วันอาทิตย์ที่สองของเดือนตุลาคม- วันเสาร์ที่สองของเดือนมีนาคม

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ANDEAN (ANDEAN Community) (สมาชิกสมทบ), APEC, FEALAC (Forum of East Asia-Latin America Cooperation), G-15, G-๗๗, IAEA (International Atomic Energy Agency), ILO, IMF, Interpol, ITU, MERCOSUR (Southern Common Market) (สมาชิกสมทบ), NAM (Non-Aligned Movement), OAS (Organization of American States), UN, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, WHO, WTO

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ

ประมุขของรัฐและรัฐบาล นาย Sebastian PIÑERA Echenique (ตั้งแต่ มีนาคม 2553) และมีวาระ 4 ปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Alfredo MONERO Charme

ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภา (Congress) ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) มีสมาชิก 120 คน วาระ 4 ปี เลือกตั้งทุก 4 ปี และวุฒิสภา (Senate) มีสมาชิก 38 คน วาระ 8 ปีเลือกตั้งทุก 4 ปี โดยสลับเลือกตั้งระหว่างเขตภูมิภาคเลขคี่ กับเขตภูมิภาคเลขคู่ซึ่งรวมเขต Metropolitan (กรุงซันติอาโก)

ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกาได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ฉบับปี 2523 (แก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548)

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด 17 มกราคม 2553

การเลือกตั้งครั้งต่อไป ธันวาคม 2556

พรรคการเมืองสำคัญ
- พรรคร่วมรัฐบาล เรียกว่า Alianza por Chile มีแนวนโยบายขวากลาง (center-right) ประกอบด้วย
(1) พรรค National Renovation – RN
(2) พรรค Union Democratic Independence – UDI
- พรรคฝ่ายค้าน เรียกว่า Concertación เป็นการรวมกลุ่มของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย 4 พรรค ประกอบด้วย
(1) Christian Democrat Party – PDC
(2) Radical Social Democrat – PRSD
(3) Socialist Party – PS
(4) Party For Democracy – PPD
โดยมีแนวนโยบายซ้ายกลาง (center-left) และเป็นกลุ่มที่บริหารประเทศมาตั้งแต่ปี 2533 จนถึงเดือน มี.ค. 2553

แผนที่สาธารณรัฐชิลี