วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐชิลี



ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

ไทยและชิลีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2505 และจะครบรอบ 50 ปี ในปี 2555 โดยชิลีเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2524 และไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก เมื่อเดือนเมษายน 2537 โดยเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงซันติอาโกปัจจุบัน คือ นายสุรพล เพชรวรา ส่วนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย คนล่าสุด คือ นายฮาเวียร์ เบกเกอร์ มาร์แชล (Mr. Javier Becker Marshall) เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554

ไทยและชิลีมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาโดยตลอด และพัฒนาความสัมพันธ์มากขึ้นตามลำดับ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า สังคม และความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามหาแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อขยายความสัมพันธ์กับชิลีทั้งในระดับรัฐบาล เอกชน และประชาชนทั่วไป นอกจากนั้นในกรอบพหุภาคี ไทยและชิลียังมีความร่วมมือกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหประชาชาติ เอเปค และเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia – Latin America Cooperation, FEALAC)

มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงหลายครั้ง ระดับพระราชวงศ์ของไทย หัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรี มีกรอบการหารือทวิภาคีที่สำคัญ ได้แก่ Political Consultations ในระดับ ปลัด กต. หารือแล้ว 3 ครั้ง โดยไทยเป็นเจ้าภาพที่กรุงเทพฯ ในปี 2542 และ 2552 และชิลีเป็นเจ้าภาพที่กรุงซันติอาโกเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Commission) ประชุมแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่ชิลีโดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย เมื่อปี 2551

นายวัชระ พรรณเชษฐ์ ผู้แทนการค้าไทย พร้อมด้วยผช.รมว.กต. ได้นำคณะ
นักธุรกิจไทยเยือนชิลีในโครงการ Roadshow ระหว่างวันที่ 3 – 5 ตุลาคม 2552 โดยฝ่ายชิลีได้ยืนยันความพร้อมและสนใจที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย – ชิลีในโอกาสแรก อนึ่ง นักธุรกิจไทยที่ร่วมไปในคณะได้สัญญาทำซื้อขายกับภาคเอกชนชิลีในสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง และชิ้นส่วนอะไหล่ เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะยางและเหล็กหล่อรถแทรกเตอร์ นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสภาธุรกิจไทย – ลาตินอเมริกาอีกด้วย

การค้าและความร่วมมือระหว่างไทยชิลี


- ชิลีเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญเป็นอันดับ ๔ ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยในปี ๒๕๕๓ การค้ารวมระหว่างไทยและชิลีมีมูลค่าทั้งสิ้น ๘๑๘.๙๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๒ (๒๙๙.๔๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ร้อยละ ๑๗๓.๔๕ สืบเนื่องจากการฟื้นตัวของวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยไทยส่งออกไปชิลีเป็นมูลค่า ๕๑๔.๑๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๖๗.๔๗ และนำเข้าจากชิลีเป็นมูลค่า ๓๐๔.๗๖ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๙๑ ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า ๒๐๙.๔๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถกระบะ (ชิลีนำเข้าจากไทยมากที่สุด) ปูนซีเมนต์ อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋อง เม็ดพลาสติก ลิฟต์ รถสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

สินค้านำเข้าที่สำคัญจากชิลี ได้แก่ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เคมีภัณฑ์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

ไทยกับชิลีได้เริ่มกรอบความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างกันในสาขาการเกษตร การเคหะ และพลังงานทดแทน ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ/ทุนฝึกอบรม/ดูงาน นอกจากนี้ ไทยยังยินดีที่จะร่วมมือกับชิลี ในลักษณะหุ้นส่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกาที่มีระดับการพัฒนาน้อยกว่า

ขณะนี้ ไทยสนใจที่จะริเริ่มความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชิลีในด้านต่างๆ เพิ่มเติมโดยเฉพาะในด้านดาราศาสตร์ ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เริ่มจะดำเนินโครงการร่วมกับชิลีในการจัดตั้งกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เมตร เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการระเบิดของรังสีแกมมา โดยจะเริ่มสร้างในประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และความร่วมมือในการสนับสนุนงานวิจัยและการเรียนการสอนดาราศาสตร์ทางไกลระหว่างประเทศ โดยมีระบบควบคุมจากประเทศไทย

ข้อมูลสรุปการค้าระหว่างประเทศของไทย กับ ชิลี(มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ไทย-ชิลี 2549 2550 2551 2552 2553
มูลค่าการค้า 494.08 611.88 539.52 299.49 818.94
การส่งออก 262.94 343.30 328.02 139.92 514.17
การนำเข้า 231.15 268.58 211.50 159.57 304.76
ดุลการค้า 31.79 74.72 116.51 -19.64 209.41

ที่มา ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

การเจรจาความตกลงการค้าเสรี

คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลีเมื่อเดือนพฤษภาคม และกันยายน ๒๕๕๓ ตามลำดับ และเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๒๒ ที่เมือง โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ไทยและชิลีได้ประกาศเริ่มต้นการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกันแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายกำลังดำเนินการเจรจาระหว่างกัน โดยคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น